วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทำบุญให้พ่อแม่ผู้ล่วงลับ เขาจะได้รับหรือเปล่า - หลวงปู่เทสก์

คัดมาบางส่วนจากหนังสือ "ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ"
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี)

ปล. ผู้โพสต์ได้จัดหน้าใหม่ บรรดาตัวเน้นเส้นใต้ทั้งหลาย
ล้วนเป้นฝีมื่อผู้โพสต์ดัดแปลงเพื่อให้อ่านง่าย และเน้นสิ่งสำคัญ
หากต้องการต้นฉบับ PDF ซึ่งถูกออกแบบมาให้พร้อมพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ ก็ขอเชิญที่นี้
http://www.hinmarkpeng.org/dhamma01.html


(๑) ถาม การทำบุญอุทิศให้ผู้มีพระคุณทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้น
ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับบุญเหล่านั้นจะเป็นของใคร

(๑) ตอบ ปัญหาเรื่องนี้กินความกว้างขวางมาก มีผู้ถามปัญหาข้อนี้กับผู้เขียนตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอยู่
จนมาได้บวชพระนับเป็นเวลา ๖๐ กว่าปี แล้วก็ยังมีคนถามอยู่

นี่แหละผู้เขียนหวังว่าถึงผู้เขียนตายไปแล้ว ถ้ายังมีการทำบุญให้ผู้ตายไปแล้วอยู่
คงจะมีปัญหาอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้เขียนจะตั้งประเด็นไว้เป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และกันความหลงลืมดังนี้
๑.๑ ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
๑.๒ ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า
๑.๓ ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับ บุญอันนั้นจะเป็นของใคร



๑.๑ ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
๑.๑ ผู้ทำบุญโดยส่วนมาก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เพื่ออุทิศแก่ผู้มีพระคุณทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น

ชาวพุทธมีดีตรงนี้แหละ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณทั้งหลาย
แล้วทำดีเพื่อสนองพระคุณของท่านเหล่านั้น

ถ้าไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว คนเราก็จะกลายเป็นเดรัจฉานไปหมด
การทำความดี คือ บุญกุศลนี้ย่อมทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์
ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตนและคนอื่น ทำในที่เปิดเผย ไม่ทำในที่ลับด้วยและทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ไม่เหมือนกับคนที่ทำความชั่ว ทำความชั่วนั้นทำด้วยความเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส และก็ทำในที่ลับไม่เปิดเผยด้วย
ทั้งไม่อุทิศส่วนบาปนั้นให้แก่ผู้มีพระคุณทั้งหลาย
ถึงแม้อุทิศให้แก่ใครก็ไม่มีใครอยากรับ เพราะเป็นของเศร้าหมอง

ทำบุญให้แก่ผู้มีพระคุณที่ตายไปแล้วนี้ จงทำด้วยของบริสุทธิ์
อย่าไปฆ่าเป็ด ไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควายมาทำ จะบาปหนักเข้าไป

อีกทำเล็กๆ น้อยๆ ด้วยใจผ่องใสบริสุทธิ์ เป็นต้นว่าตักบาตรถวายอาหารพระสงฆ์ บุญก็มากเอง
บุญมิใช่เกิดเพราะไทยทานมากๆแต่เกิดขึ้นจากใจเลื่อมใสศรัทธาต่างหาก
เปรียบเหมือนเทียนที่เรามีอยู่แล้วไปขอต่อจากคนอื่น เทียนของคนอื่นก็ไม่ดับ ของเราก็ได้ไฟสว่างมา
เหตุนั้นบุญในพุทธศาสนาจึงหมดไม่เป็น

คนมากี่ร้อยกี่พัน เอาหัวใจของตนมาตักตวงเอา บุญในพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีหมด
บุญยังเต็มเปี่ยมอยู่ตามเดิม ถ้าทำด้วยความเลื่อมใสแล้ว วัตถุทานมีน้อยก็กลายเป็นของมากเอง


๑.๒ ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า
เรื่องนี้เป็นของพูดยาก เพราะผู้ที่ตายไปแล้วก็ไม่ได้ตอบรับเหมือนเราส่งจดหมายไปหากัน
อนึ่ง บุญนั้นก็มิใช่จะส่งไปได้อย่างพัสดุไปรษณีย์เพราะเป็นของไม่มีตัวตน

เป็นความรู้สึกภายในใจว่าบุญที่ตนทำนี้ต้องถึงผู้ตายไปแน่
และเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า
ทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วต้องทำในพระภิกษุผู้มีศีลและเมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้บริโภคอาหาร ก็
ต้องทำบุญถวายอาหารเมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้เครื่องนุ่งของห่ม ก็ถวายผ้าผ่อนเครื่องนุ่งของห่ม แล้วอุทิศ
กุศลนั้นไปให้แก่เขาเหล่านั้น แล้วของเหล่านั้นก็จะปรากฏแก่เขาเหล่านั้นเองโดยที่ไม่มีใครนำไปให้เขา



๑.๓ ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับ บุญอันนั้นจะเป็นของใคร
เรื่องนี้บอกได้ชัดเลยว่า บุญเป็นของผู้ทำแน่นอนเพราะผู้ทำเกิดศรัทธาเลื่อมใสพอใจในการกระทำบุญ
บุญก็ต้องเกิดในหัวใจของผู้นั้นเสียก่อนแล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้มีอุปการะคุณที่ตายไปแล้ว
ได้ชื่อว่าทำบุญสองต่อ คือเราได้ทำบุญแล้วเพราะศรัทธาเลื่อมใสจึงทำบุญ
แล้วเราอุทิศส่วนบุญนั้นไปให้แก่ผู้ตายไปอีก เป็นอีกต่อหนึ่ง

ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ
แต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำ นับว่าเป็นความดีของผู้นั้นอย่างยิ่ง

ท่านเปรียบไว้ สมมุติว่าบุญที่ทำลงไปนั้นแบ่งออกเป็น ๑๖ ส่วน
แล้วเอาส่วนที่ ๑๖ นั้นมาแบ่งอีก ๑๖ ส่วน
ผู้ตายไปจะได้รับเพียง ๑ ส่วน เท่านั้น

ฟังดูแล้วน่าใจหาย เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท
ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้มีสิ่งใดควรจะทำก็ให้รีบทำเสียตายไปแล้วเขาทำบุญไปให้ไม่ทราบว่าจะได้รับหรือไม่
ถึงแม้ได้รับก็น้อยเหลือเกิน เพราะคนตายแล้ว เขาเรียกว่าเปรต ไม่ได้เรียกว่า บิดา
มารดา ป้า น้า อาว์ ครูบาอาจารย์ อย่างเมื่อเป็นมนุษย์อยู่นี้หรอก

ในบรรดาเปรตเหล่านั้นมี ๑๑ พวก
มีจำพวกเดียวที่จะได้รับส่วนบุญที่คนยังมีชีวิตอยู่อุทิศไปให้ เรียกว่า ชีวิตูปรัตตเปรต เปรตจำพวกนี้ได้รับทุกข์ร้อนลำบากมาก

เพราะในเปรตโลกนั้นไม่มีการทำนาค้าขาย แม้แต่ขอทานก็ไม่มี
เสวยผลกรรมของตนๆที่ทำไว้ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นี้เท่านั้น
ฉะนั้นเปรตจำพวกนี้แหละมนุษย์คนที่ยังเป็นอยู่ทำบุญอุทิศไปให้จึงจะได้รับ
เปรตนอกนั้นแล้วไม่ได้รับเลย เช่น ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้รับ นับประสาอะไร

บางทีสามีภรรยานอนอยู่ด้วยกันแท้ๆ ฝ่ายหนึ่งทำบุญขอให้อีกฝ่ายหนึ่งอนุโมทนาด้วย ก็ไม่รับ
พวกที่ไปเกิดเป็นเดรัจฉานยิ่งไม่รู้กันใหญ่
ไปเกิดในนรกหมกไหม้ทุกขเวทนามาก ทำบุญอุทิศไปให้ก็ไม่รู้อะไร เพราะกำลังเสวยผลกรรมอันนั้นอยู่

หรือไปเกิดเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่งก็เหมือนกัน เขากำลังเสวยผลบุญของเขาอยู่
เขาจะมาเอากุศลผลบุญของเราได้อย่างไร

ชีวิตูปรัตตเปรต ดังเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่พระเจ้าพิมพิสารเกิดอาเพทตอนกลางคืน
มีเสียงดัง ขลุกๆ ขลักๆ ทั่วไปหมดในห้องพระตำหนัก พระเจ้าพิมพิสารกลัวจะเกิดเหตุเป็นอันตรายแก่ราชบัลลังก์
จึงเข้าไปกราบทูลเหตุอันนั้นแก่พระพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสว่า ไม่มีอันใดเลย
พวกเปรตที่เป็นญาติของพระองค์แต่ครั้งพระพุทธเจ้าชื่อว่า พระวิปัสสี โน่น เขามาขอส่วนบุญกับพระองค์
ขอมหาบพิตรจงทำบุญให้เขาแล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้เขาเสีย เสียงนั้นก็จะหายไป

พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงกระทำ ทักษิณานุประทาน ทำบุญอุทิศให้แก่เปรตเหล่านั้นแล้ว
พวกเปรตเหล่านั้นได้รับส่วนบุญแล้วก็มีกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ยังไม่มีผ้าเครื่องนุ่งห่ม

ทีหลังก็มาปรากฏให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นอีก พระเจ้าพิมพิสารก็นำเอาเรื่องพฤติการณ์อันเปรตมาแสดงนั้น
ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าอีก

พระองค์จึงตรัสว่า เพราะมหาบพิตรไม่ได้ทำบุญผ้า
พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงทำบุญถวายผ้าแก่พระสงฆ์ และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่เปรตเหล่านั้น
พอเปรตเหล่านั้นได้รับแล้วก็ไปเกิดในสุคติภพในสวรรค์

ที่มาเล่าสู่กันฟังพอเป็นทัศนคติที่ว่า ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้วจะได้รับหรือไม่
เพราะผู้เขียนก็ไม่สามารถจะไปล่วงรู้เขาได้ และผู้ตายไปแล้ว
แม้แต่โยมบิดามารดาของผู้เขียนก็ไม่เคยบอกว่า บุญที่ทำแล้วอุทิศไปให้ได้รับหรือเปล่า
แต่ผู้เขียนก็ทำบุญอุทิศไปให้เสมอเป็นแต่ได้ฟังมาจากตำรา จะหาว่าเล่านิทานหลอกเด็กให้กลัวเฉยๆ
แต่ถ้าผู้ใหญ่กลัวอย่างเด็กๆแล้ว บ้านเมืองก็ไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ เด็กเชื่อง่ายหัวอ่อน สั่งสอนน้อมใจเชื่อเร็ว
ผู้ใหญ่จึงชอบสอนเด็กๆ แต่เมื่อโตขึ้นมาแล้ว ถือว่าเรามีสิทธิเสรีเต็มที่ไม่ต้องเชื่อความคิดของคนอื่น
เชื่อความคิดของตนเอง หรือเข้าสมาคมกับผู้ใหญ่เลยเป็นผู้ใหญ่ไปหมด
ความเชื่อและความคิดเมื่อยังเด็กอยู่ที่อบรมไว้เลยหายหมดเลย
กลายมาเป็นผู้ใหญ่อย่างผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

อนึ่ง เรื่องการทำบุญใช้หนี้เจ้ากรรมนายเวร เรื่องนี้ผู้เขียนไม่รู้จริงๆ จึงตอบไม่ได้ ขอผู้รู้ทั้งหลายได้
เมตตาแนะแนวให้ผู้เขียนได้ทราบบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
กรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว ผลของกรรมนั้นย่อมเกิดที่ใจของตนเอง
มิิใช่ผู้ทำกรรมผู้หนึ่ง เจ้ากรรมนายเวรอีกผู้หนึ่ง
คล้ายๆ กับว่ามีเจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้บัญชาการอยู่
ทำบุญอุทิศกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรผู้บัญชาการเพื่อให้เป็นสินน้ำใจ
แล้วเจ้ากรรมนายเวรก็จะลดหย่อนผ่อนผันให้อย่างนี้เป็นต้น

หรือกรรมเวรที่เราทำแก่คนอื่นนั้น คนนั้นเองเป็นเจ้ากรรมนายเวรเราเห็นโทษความผิดแล้วทำบุญอุทิศไปให้แก่
เขาเพื่อเขาจะลดโทษผ่อนผันให้ อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะเขาตายไปแล้ว ไม่ทราบไปเกิดในที่ใด และกำเนิดภูมิใด ดังได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น

คนที่ทำกรรมทำเวรแก่กันแล้วเมื่อยังเป็นคนอยู่นี้ จะพ้นจากกรรมจากเวรได้ก็เมื่ออโหสิกรรมให้แก่กันและกัน
ในเมื่อยังเป็นคนอยู่นี่แหละตายไปแล้วจะอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไม่ได้เด็ดขาด

มิใช่ว่าเราได้ทำกรรมชั่วทุจริตด้วยจิตที่เป็นบาปมีอกุศลมูลเป็นพื้น
มาภายหลัง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือเท่าไรก็ตาม ระลึกถึงกรรมอันนั้นแล้วกลัวบาป
จึงทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ที่เราได้กระทำแก่เขานั้นเพื่อให้เขาอโหสิกรรมให้ ดังนี้เป็นการไม่ยุติธรรม

เป็นการตัดสินคดีภายหลังจากเหตุการณ์ ถ้าถือว่าเราระลึกถึงความชั่วของตนแล้ว
ทำความดีเพื่อแก้ตัวหรือปลอบใจของตัวเอง เป็นการสมควรแท้

การทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วจะได้หรือไม่ มีอรรถาธิบายกว้างขวางมาก
อธิบายมาก็มากพอสมควร พอที่ผู้ฟังจะเข้าใจบ้างตามสมควร
จึงขอยุติไว้เพียงแค่นี้เสียก่อนเพื่อจะได้ตอบปัญหาคนอื่นต่อไป

.....................................................
"เพราะหากเป็นคนฉลาดก็มีแต่จะทำให้คนอื่นรักตนเท่านั้น-วาทะคุณกุหลาบสีชา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น